ธรรมชาติ ควอนตัม ตัวตน สังคมและความเข้าใจ

โดย พร อันทะ เมื่อ

ผมเชื่อว่าในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของใครก็ตาม ต้องพานพบกับการมองโลกในแง่ดีที่แสนดีของตัวเอง ช่วงเวลานั้นอาจจะมากอาจจะน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละคน ในทางตรงกันข้าม เมื่อถึงจุดหนึ่งเหตุการณ์มันจะตรงกันข้าม คือมองโลกในแง่ร้ายสุดๆ

ตามหลักการทางพฤติกรรมของทฤษฎีควอนตัมแล้ว ความแน่นนอนคือความไม่แน่นอน ความเข้าใจคือความเข้าใจ ดั่งที่นักฟิสิกส์ทฤษฎีนาม ริชาร์ด ฟายด์แมน ได้กล่าวเอาไว้ “ใครที่คิดว่าตัวเองเข้าใจในควอนตัม แสดงว่าใครคนนั้นไม่ได้เข้าใจมันจริงๆ หรอก” เพราะโดยหลักการใรความเป็นไปไม่ได้ยังมีโอกาสเป็นไปได้ และในทางตรงข้ามกันก็เกิดขึ้นได้เสมอ หรือ ใครที่เริ่มศึกษาเกี่ยวกับควอนตัมแล้วไม่เกิดอาการ งง ในตอนแรก ก็แสดงว่าผู้นั้นยังไม่ใกล้กับคำว่าเข้าใจ

กล่าวคือ อย่าเพิ่งไปด่วนตีความว่าตัวเองเข้าใจในควอนตัม

ความเข้าใจในควอนตั้มของผมยังอยู่ห่างออกไปประมาณ สิบยกกำลังลบสามสิบสี่ (10-34) (ลบจุดศูนย์สามสิบสี่ตัวแล้วตามด้วยเลขหนึ่ง) กล่าวคือผมไม่รู้ว่ามันคืออะไร

สำหรับผมแล้ว ทฤษฎีควอนตัมที่นักวิทยาศาสตร์ยังหาบทสรุปยังไม่ได้ ผมเชื่อแบบปัญญาอ่อนของผมคนเดียว คือ เป็นเพราะว่า ควอนตัม นั้นอยู่ใกล้ชิดกับความเป็นธรรมชาติและความเป็นกฎแห่งธรรมชาติมาก มนุษย์ยังไม่ได้เข้าใกล้กับคำว่าธรรมชาติและความเป็นไปที่สมดุลย์เท่าไหร่ เราจึงห่างไกลกับความเข้าใจในควอนตั้ม เราทำได้แค่เพียงแต่ค่อยๆ ศึกษาและใช้ประโยชน์จากมันเพียงบางด้านเท่านั้น ดั่งคล้ายกับที่เราเลือกใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ และทำร้ายธรรมชาติไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

หาได้รู้ไม่ เราก็เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ ที่เลวร้ายไปกว่านั้นนั่นคือ “เรากำลังทำร้ายตัวเราเอง” บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเกิดมาจากอะไร คุณเกิดมาจากท้องพ่อ ท้องแม่หรือ แล้วท้องพ่อ ท้องแม่เกิดมาจากอะไร แล้วท้องของโคตรพ่อ โคตรแม่เกิดมาจากอะไร แล้วย้อนกลับไปเมื่อสี่พันล้านปีก่อน โลกเรามีท้องพ่อ ท้องแม่หรือไม่ หรือเราเพียงเกิดมาจาก อวัยวะที่อยู่ใกล้ๆ ท้องพ่อท้องแม่กระนั้นหรือ หรือเกิดจากการโยกย้ายส่ายสะโพกหลังงานปาร์ตี้พี้ยาของชายหนุ่มหญิงสาว

เราไม่ได้เกิดมาจากสิ่งเหล่านั้นหรอก เราทุกคนล้วนเกิดมาจากความรัก (ความรักมันก็เหมือนควอนตัมนั่นแหละ คนที่บอกว่าเข้าใจในความรักก็คงพอๆ กับคนที่บอกว่าเข้าใจในควอนตัม) ความรักในยุคก่อนที่จะเกิด บิ๊กแบง ซึ่งมันนานเหมือนนิยายในอวกาศ

ที่ผมเขียนมั่วๆ อยู่ด้านบนนั้นก็ไม่ใช่อะไรมากมายนักหรอกครับ เกิดจากความผิดธรรมชาติในตัวเอง “ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามธรรมชาติ” “เล่นให้เป็นธรรมชาติ” แหม… น่ายินดีกับสิ่งที่ได้ทำ

สำหรับผมแล้ว ผมแบ่งแยกและตัดสินชีวิตออกเป็น 4 ระยะ คือ ตัวตน สังคม ธรรมชาติและจักรวาล สำหรับผมแล้วไปไหนได้ไม่ไกลหรอก อยู่ที่ข้อแรกนั่นแหละ (สังเกตจากที่ผมใช้คำว่า “ผม” บ่อยๆ มันมักอ้างถึงตัวเอง)

ทำไมต้องมี 4 ขั้น ก็เพราะผมมองแบบ มองใกล้ มองไกล มองกว้าง และมองกว้างออกไป

โดยส่วนใหญ่ของคนเรามักจะติดอยู่ที่ข้อหนึ่งและข้อสอง คือ เห็นตัวเองแล้วก็มองสังคม โดยลืมธรรมชาติ เอ่อ… แต่ตอนนี้เรามีโครงการรักษ์ธรรมชาติกันเพียบเลยนี่หว่า ก็โอเค…

มนุษย์คือสัตว์สังคม วิชาสังคมศึกษาสอนเรามาตั้งแต่สมัยเรียน ประถมห้า ถ้าเราทำตัวแปลกออกไปก็จะเกิดอาการ คนตั้งแต่สองคนขึ้นไปหันหน้าเข้ากันปรึกษาหารือเรื่องของเรา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับท้องของโคตรพ่อโคตรแม่เขาแม้แต่น้อย ผมขอเรียกว่า “การปรึกษาหารือเรื่องควอนตั้ม” เพราะแม้ว่าทั้งสองคนนั้นคุยกันให้ตายมันก็คงไม่เข้าใจในสิ่งที่เราเป็น เพราะเราคือ “ธรรมชาติ”

ซึ่งการอยู่ด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปนั้นทางสังคมศาสตร์เรียกว่า “สังคม” คนเดียวคือคนเดียว ไม่ใช่สังคม โอเคนะครับ ถ้าเราทำอะไรตั้งแต่สองคนขึ้นไป เรียกว่า “เป็นกิจกรรมทางสังคม” อะแฮ่ม อย่าเพิ่งคิดถึงเรื่องนั้น

เพราะเราถูกกักกันอยู่ในกรอบของสังคม ที่คนเกินสองคนขีดขั้นเอาไว้ เราจึงยังไม่อาจเข้าใกล้ธรรมชาติ แต่ถ้าเราอยู่ในกรอบของสังคมและพยายามเรียนรู้ ธรรมชาติไปด้วยหละ ธรรมชาติที่ผมพูดไม่ใช่ต้นไม้สีเขียวๆ เพียงอย่างเดียว ธรรมชาติก็คือทุกอย่าง นั่นคือเราต้องทำความเข้าใจทุกอย่าง ไม่ใช่เข้าแต่ใจตัวเองอย่างเดียว แน่นอนมันไม่ใช่ง่ายหรอก แล้วมันระดับตายแล้วเกิดนั่นหรอกหรือ

ไม่หรอกครับ ผมไม่คิดว่าผมจะได้เกิด แต่ผมไม่รู้หรอกว่า อะตอมที่มันแตกกระจายออกไปจากตัวผมมันจะไปรวมอยู่กับอะไรบ้าง (หลังจากสะสารย่อยสลายไปด้วยวิธีการใดๆ อะตอมที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายจะกระจายออกไปเพื่อเข้าหลอมรวมกับสะสารอื่นๆ ที่ยังคงอยู่ แต่ผมไม่รู้ว่าจิตใจมันจะลอยไปไหน ผมว่ามันน่าจะดับไปเฉยๆ เหมือนโดนปิดไฟ ไม่แน่ในตัวคุณอาจจะมีอะตอมที่เคยอยู่ในร่างของ จอน เลนน่อน สิงอยู่)

เริ่มจากการเข้าแต่ใจ แล้วก็มาที่เข้าใจ เข้าใจตัวเอง เข้าใจสังคม และเรียนรู้ธรรมชาติของทุกอย่าง (ให้ตายสิ พูดง้าย ง่าย) จนสุดท้ายแล้วเราจะรู้ว่า เราไม่มีวันเข้าใจอะไรได้หรอก นั่นแหละคือสิ่งสุดท้ายที่เราจะเข้าใจ เข้าใจว่า “ไม่มีทางเข้าใจอะไรเลย” นั่นคือสุดยอดของความเข้าใจ

ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเข้าใจว่าทำไมเราไม่เข้าใจในสิ่งที่คนอื่น เป็น เมื่อนั้น เราจะยิ้มได้ มันคือความเข้าใจในแบบฉบับของควอนตั้ม นั่นคือการเข้าใจในธรรมชาติและตัวตน อย่ากลัวที่จะเริ่มเรียนรู้และเข้าใจ สุดท้ายจะได้ทำใจยอมรับได้ง่ายๆ

มีความสุขตามอัตภาพบ้าง จะเป็นไรไป อย่างน้อยชีวิตนี้เราก็ไม่ได้ทุกข์ไปซะหมด

พร อันทะ / เชียงใหม่, ธันวาคม 2551

ปล. เชียงใหม่ ไม่หนาว

ปร. แด่ รดิส ผู้ที่กำลังอยากเข้าใจอะไรบางอย่าง