เสาหิน:โรงเรียนของหนู
โดย พร อันทะ เมื่อ
๑. ยามเช้า
เสียงเฮฮา พร้อมเต้นประกอบท่าแอโรบิคของนักเรียนประมาณ 80 คน พร้อมกับครู 2 คน ที่อยู่กลางสนามของโรงเรียนในยามเช้า ทำให้ผมต้องเดินเข้าไปดูใกล้ๆ มันเป็นการอุ่นเครื่องคลายความหนาวของครูๆ และนักเรียนของโรงเรียนบ้านเสาหิน ในหมู่บ้านที่ยามเช้าอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 10 องศา
นักเรียนจาก 6 หย่อมหมู่บ้าน มารวมและเรียนกันที่โรงเรียนแห่งนี้ มีการเรียนการสอน ป.1-ป.6 และครูจริงๆ 2 คน อีก 2 คนเป็นผู้ช่วย
๒. เล่าย้อน
ย้อนกลับไปวันแรกที่พวกเรามาถึง ผมกับเพื่อนอีก 2 คนเดินดุ่มๆ เข้าไปในบริเวณโรงเรียน สิ่งที่แปลกตาแต่ผมเข้าใจได้ คือเด็กนักเรียนทุกคน ไม่ว่าใครก็ตามเห็นพวกเราแล้วยกมือไหว้กันหมด ทำให้ผมนึกถึงโรงเรียนที่ผมเรียนเมื่อ 20 ปีก่อน ที่เป็นโรงเรียนชนบทเหมือนกันและสภาพของโรงเรียนไม่ได้ต่างกันมากเท่าไหร่ บ้านผมพูดภาษาอีสาน นักเรียนแถบนี้ก็พูดอีกแบบหนึ่ง
๓. อุดมคติ
ผมเคยเห็น ไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือหนังหลายๆ เรื่องที่เล่าเรื่องโรงเรียนบนดอยแล้วหนุ่มๆ สาวๆ อยากพากันไปอยู่เพราะสงสารเด็กบนดอย อยากไปเป็นครูสอนเด็กๆ เหล่านั้น ผมไม่ได้กำลังคิดว่าตอนนี้คงไม่มีเรื่องราวเหล่านั้นอีกแล้ว (แค่เพียงแอบคิด) คนหนุ่มสาวที่มีอุดมการณ์เหล่านั้นก็ยังคงมีแต่อาจจะเป็นคนกลุ่มน้อยที่หลบ ซ่อนตัว หรือว่าจะไม่เหลือแล้ว หรือเหลือแค่กลุ่มคนที่มุ่งเข้าหาสิ่งที่คนหลายคนเรียกว่าความเจริญ
ผมไม่ได้ร่ำเรียนมาทางครูโดยตรง ก็คงไม่มีวุฒิทางการศึกษาเพื่อที่จะไปสอบบรรจุสู้ใครๆ ได้แต่ยืนมองครูสองสามคนที่มุ่งมั่นสอนนักเรียนอยู่นั่นอย่างปีติ
ใครสนใจที่จะย้ายไปโรงเรียนแห่งนี้ ก็เชิญครับ ได้ข่าวว่ามีครูต้องการกลับออกมาเหมือนกันเพราะเหตุผลจำเป็น (94 กิโลเมตรจากตัวอำเภอแม่สะเรียง ไม่มีไฟฟ้า มีน้ำปะปาเย็นๆ จากดอย ไม่มีสองแถวหรือรถใดๆ ให้บริการ นอกเสียจากว่าคุณจะโบกรถสิบล้อเข้าไป หรือขี่ 4×4 เท่านี้คงทรุนด้าพอ)
๔. เรียนต่อ
ย้อนกลับมาครึ่งทาง ก่อนถึงเสาหิน ห่างประมาณ 45 กิโลเมตร มีหมู่บ้านซื่อ โพซอ เป็นหมู่บ้านที่คุณจะต้องประทับใจตั้งแต่แรกเข้า เพราะปากทางเข้าหมู่บ้านเป็นลำห้วย คุณต้องข้ามน้ำเข้าไปก่อน ผมคิดเล่นๆ ถ้าพม่าบุกมาช่วงหน้าฝนคงคิดผิด เพราะน้ำหลากสงสัยเข้าหมู่บ้านไม่ได้
โรงเรียนบ้านโพซอ เป็นโรงเรียนขยายโอกาศทางการศึกษา จนถึง ม.3 เด็กที่เรียนจบ ม.3 ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปเรียนต่อเกษตรที่ลำพูน เพราะปัญหาเรื่องเรียนฟรีที่นักเรียนส่วนใหญ่มีแต่ตัวกับใจ ทุกอย่างโรงเรียนออกให้หมด
โพซอ เป็นโรงเรียนกินนอน มีนักเรียนประจำประมาณ200 ชีวิต ไป-กลับอีก 100 คน จากประมาณ 20 หมู่บ้าน รัศมี 50 กิโลเมตร
๕. เดินเรียน
ระหว่างทางขากลับ พวกเรารับเด็กนักเรียนที่กำลังเดินอยู่ขึ้นรถมาด้วยแล้วนำมาส่งที่โรงเรียน โพซอ นักเรียนที่มีเรียนประจำ จะกลับบ้านตามปฏิทินดอย กลับเดือนละ 1 ครั้ง ประมาณ 4-5 วัน
ด้วยการเดิน
เด็กหญิงเดินจากบ้านกิ่ว บ้านกิ่วอยู่ห่างจากบ้านเสาหิน 1 กิโลเมตร บานเสาหินอยู่ห่างจากบ้านโพซอ 45 กิโลเมตร รวมแล้วเด็กหญิงทั้งสามเดินเป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร ออกเดินจากบ้านเวลา 8 โมงเช้า ถึงโรงเรียนประมาณ 5 โมงเย็น ห่อข้าวมากินระหว่างทางเดิน
เด็กหญิงทั้ง 3 คน เป็นพี่น้องกัน คนโตเรียน ม.3 คนกลางเรียน ป.6 คนเล็กเรียน ป.5
คนกลางกับคนเล็กเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านเสาหิน
แค่เดินมาส่งพี่สาวที่โรงเรียนบ้านโพซอ
นอนพักกับพี่สาว 1 คืน ตื่นเช้าน้องๆ ทั้งสองก็จะเดินกลับบ้านกิ่ว กลับไปเรียนที่โรงเรียนบ้านเสาหิน
รวมสองวัน เด็กสองคนเดินคนละ 88 กิโลเมตร
“พวกหนูไม่เมื่อยหรอกค่ะ เดินอย่างนี้มา 3 ปีแล้ว”
นี่คือต้นทุนเพื่อการศึกษา
เด็กในเมืองอาจจะแค่เดินเรียนข้ามตึก แต่เด็กๆ ที่นี้เดินเรียนข้ามเขา
๖. ไท(ย)
จากด้านบน เด็กทั้งสามคนเกิดในเมืองไทย แต่ไม่มีอะไรแสดงตน พี่สาวคนโตกำลังเดินเรื่องเพื่อขอบัตรสีชมพู เพราะใกล้เรียนจบ ม.3 และอาจจะต้องออกไปเรียนต่อที่ลำพูน ถ้าไม่มีบัตรสีก็ไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ นั่นก็หมายถึงโอกาสทางการศึกษาต้องชัทดาวน์ตามไปด้วย
๗. มองดู
ผมมองดู จึงได้แต่มองดู ชีวิตที่มันแตกต่างและเหมือนกันในความเป็นไทย
มีความสุขกับการเดินเรียนครับ