การเพาะเมล็ดผักไฮโดรฯ
โดย พร อันทะ เมื่อ
สิ่งที่ท้าทายของชาวเกษตรกรมาตลอดอีกหนึ่งอย่างคงหนีไม่พ้นการเพาะเมล็ด ปัจจัยที่ทำให้เมล็ดงอกหรือไม่งอกนั้นมีหลากหลาย ความชื้น อุณหภูมิ แสง คุณภาพเมล็ดพันธุ์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับการจัดเก็บของเราด้วย
ถ้าไปลองค้นหาในอินเทอร์เน็ตเรื่องของการเพาะเมล็ดผักไฮโดรฯ ก็จะเจอข้อมูลมากมาย ไม่ต้องถามเลยฮะ พวกเราลองกันมาเกือบทุกรูปแบบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดเคลือบที่ต้นทุนสูงลิ่ว เมล็ดเปลือยราคาไม่กี่ตังค์ ไปจนถึงเมล็ดเปลือยที่ราคาเกือบเท่ากับเมล็ดเคลือบ
จนสุดท้ายเราก็เจอแนวทางที่เหมาะสมกับฟาร์มของเรา
บทความนี้จะบอกเล่าประสบการณ์การเพาะเมล็ดแต่ละแบบที่เราได้ทดลองมาให้ทุกคนได้เห็นภาพกัน ก่อนอื่นเราขอชี้แจงขั้นตอนของการเพาะเมล็ดและอนุบาลผักโดยทั่วไปที่ชาวไฮโดรฯ เขาทำกันก่อน
ขั้นตอนการเพาะเมล็ดแบบที่ 1 เมล็ดเปลือย (แบบผู้มีเวลาและแรงงาน)
- นำกระดาษทิชชู่มาพับซ้อน หนาพอประมาณ
- วางลงไปในกล่องพลาสติก ฉีดพ่นน้ำให้เปียกชุ่ม
- นำเมล็ดพันธุ์มาเรียงให้เป็นระเบียบสวยงาม หรือไม่สวยงามตามแต่ผู้ปลูกจะถนัด
- ฉีดพ่นน้ำโดยฟ๊อกกี้บางๆ ให้ชุ่ม
- ปิดฝาให้สนิท
- นำเข้าตู้เย็นประมาณ 24-48 ชั่วโมง แล้วรากขาวๆ จะงอกออกมา
- แช่ฟองน้ำทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที ขยำให้น้ำเข้าทุกรูแล้วนำขึ้นมาตั้งให้น้ำส่วนเกินไหลออกจนหมด
- นำฟองน้ำใส่ในกระบะเพาะ
- ใช้อุปกรณ์คีบเมล็ดพันธุ์ที่งอกแล้วมาลงฟองน้ำที่เตรียมไว้ 1 เมล็ดต่อหนึ่งช่อง ทำไปจนชั่วฟ้าดินสลาย พ่อตาตายแม่ยายเสีย
- ใช้ถุงดำปิดกระบะทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง เมล็ดจะเริ่มงอกรากยาวขึ้น ใบเลี้ยงจะเริ่มแทงขึ้นมา
- นำออกไปตั้งรับแสงตอนเช้าแล้วหลบความร้อนตอนสาย บ่ายๆ เย็นๆ เอาออกไปรับแสงอีกที
- เติมน้ำเปล่าเข้าไปในกระบะ อย่าให้น้ำแห้ง ทำแบบนี้ไปอีก 4-5 วัน
- วันที่ 5-7 ของการเพาะ เตรียมย้ายต้นกล้าไปยังกระบะอนุบาลอันใหม่ เริ่มใส่ปุ๋ยโดยผสมสูตรปุ๋ย A B ตามคู่มือของแต่ละเจ้าที่เขาแนะนำมา
- ตั้งทิ้งไว้ให้รับแสงจนถึงวันที่ 13-15 หรือ 17 ให้สังเกตเองว่าต้นโตพอหรือยัง แล้วเตรียมย้ายขึ้นรางอนุบาล
ปัญหาที่เราเจอในการเพาะกล้าแบบนี้คือ
- ใช้เวลามากเกินไปจากขั้นตอนที่ 1-9
- หากเมล็ดพันธุ์ไม่ดี รากอาจจะงอกออกมาไม่พร้อมกัน ทำให้ต้องเพาะเมล็ดเผื่อประมาณ 10-25%
ข้อดี
มั่นใจได้แน่ๆ ว่าทุกเมล็ดในฟองน้ำเกิดแน่นอน! เมล็ดไหนไม่งอกก็เอาทิ้ง
การเพาะเมล็ดแบบที่ 2 เมล็ดเคลือบ
สำหรับเมล็ดเคลือบก็แทบจะการันตีได้เลยว่าทุกเมล็ดมันงอกแน่ๆ โดยเฉพาะตอนที่เราซื้อมาใหม่ๆ เพาะยังไงก็งอก วิธีการนั้นถ้าดูจากการเพาะเมล็ดเปลือยที่เขียนไว้ด้านบนนั้นแล้ว ให้ข้ามกระบวนการข้อ 1-8 ไปเลย ไม่ต้องทำ เริ่มจากข้อ 9 ได้เลย แค่เปลี่ยนจากคีบเมล็ดที่งอกไปเป็นคีบเมล็ดพันธุ์ที่เคลือบกลมๆ แทน ที่เหลือก็ทำเหมือนกันทุกประการ
ปัญหาที่เจอจากการเพาะเมล็ดแบบเคลือบ
- อัตราการเกิดเกือบร้อย แต่ยังไม่ร้อย แต่(ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากๆ)
- แพงงงงงงงง ทำให้ต้นทุนสูงกับค่าเมล็ด
ข้อดี
ประหยัดเวลามากๆ รวมถึงต้นกล้าที่เติบโตมาแข็งแรงดีด้วย
หลังจากที่เราเพาะและปลูกไปได้หลายแปลงพอประมาณ ปัญหาเริ่มมาเยือน เมล็ดพันธุ์ที่เคยงอกกลับไม่งอก ใส่ทิชชู่แช่ตู้เย็นสองวันก็แล้ว สามวันก็แล้ว สุดท้ายไม่งอก เราก็เริ่มสงสัยในเรื่องคุณภาพของเมล็ดพันธุ์
เปลี่ยนไปใช้เมล็ดพันธุ์ของเจ้าใหม่ ปรากฎว่าอัตราการงอกกลับมาเหมือนเดิม สุดท้ายเราได้เรียนรู้ว่าเมล็ดพันธุ์ถือเป็นปัจจัยหลักอันดับต้นๆ ที่ต้องใส่ใจ รวมไปถึงการจัดเก็บ เพราะตอนแรกเราเก็บไว้ในตู้มิดชิดเฉยๆ แต่จริงๆ แล้วต้องเก็บไว้ในตู้เย็นตลอดเวลาและที่สำคัญ ไม่ต้องสั่งซื้อมาทีละมากๆ ให้สั่งมารอล่วงหน้าแค่ 3-4 รอบปลูก เพราะยังไงการจัดเก็บหรือการหมุนเวียนเมล็ดพันธุ์ของทางร้านค้าน่าจะดีกว่าของเราแน่ๆ เลือกร้านค้าที่รีวิวดีๆ หน่อยเป็นพอ หรือถ้าใครอยากจะรู้ว่าที่ฟาร์มของเราใช้เมล็ดพันธุ์ของเจ้าไหนก็หลังไมค์มาเลยครับเดี๋ยวแนะนำให้โดยไม่มีค่าหัวคิว
การเพาะเมล็ดแบบที่ 3 เมล็ดเปลือย (เพาะเผื่อขาด)
เมื่อได้เมล็ดพันธุ์ที่เชื่อถือได้มา เราก็เปลี่ยนวิธีการเพาะเมล็ดแบบใหม่ โดยยอมเสียความ 100% ไปแลกกับเวลาที่ได้กลับมา นั่นก็คือ เราใช้เมล็ดเปลือยแต่ใช้ขั้นตอนตามแบบเมล็ดเคลือบเลย งอกบ้าง ไม่งอกบ้างไม่เป็นไร เราพอใจที่ 70-80% ก็เป็นพอ ใช้การเพาะเผื่อเหลือเอาไว้เลย ฟองน้ำแผ่นละ 7 บาท ไม่ต้องกลัวเปลือง เมล็ดที่ซื้อมาราคา 30 บาท ได้ประมาณ 450 เมล็ด ก็ลุยเลย
มาถึงตอนนี้เราก็เลิกการเพาะเมล็ดบนกระดาษทิชชู่ไปเลย
บางครั้งสภาพอากาศไม่เป็นใจ ทำให้เมล็ดงอกช้าเราได้เรียนรู้ว่าไม่ต้องตกใจ ถุงดำปิดทิ้งไว้อย่างนั้นแหละเปิดดูเรื่อยๆ ทุกวันเดี๋ยวมันก็งอกออกมาเอง
ปัญหาเรื่องถัดมาอยู่ตรงนี้เลย คือเมื่อเมล็ดมันงอกมาไม่พร้อมกันมันก็ทำให้ต้นที่งอกก่อนออกล่าตามหาแสงก่อน เกิดอาการยืดยาว บางครั้ง 10% ใบเลี้ยงออกสองใบแล้ว ที่เหลือเมล็ดเพิ่งแทงออกมา ทำให้ต้องมาเปิดดูแล้วใช้ที่คีบดึงรากกลับลงไปในฟองน้ำ เคยเอาออกไปตั้งรับแสงแดดเลยก็ทำให้เมล็ดที่กำลังงอกออกมาได้รับความร้อนมากเกินไปหยุดการเจริญเติบโต โดนความร้อนเผาไหม้แล้วก็แห้งตายไปในที่สุด เหลือพวกที่งอกมาก่อนหน้าชูคอสลอนอยู่ไม่ถึง 30% ของทั้งแผ่นฟองน้ำ จึงต้องคิดหาวิธีการแก้ไขแบบใหม่
การเพาะเมล็ดแบบที่ 3.5 เมล็ดเปลือย (เพาะเผื่อขาด แต่เติมไฟ)
เป็นอันรู้กันโดยทั่วไปว่า พืชต้องการแสง โดยที่แสงธรรมชาติอย่างแสงแดดนั้นมันจะมีพลังงานความร้อนมาด้วยเสมอ ถ้าอย่างนั้นเราลองมาปรับเปลี่ยนเป็นให้แสง แต่ความร้อนไม่ต้องให้ได้ไหม
การทดลองจึงเกิดขึ้น
เราสั่งไฟปลูกผักมาจากร้านค้าออนไลน์หนึ่งโดยส่งจากเมืองจีน เป็นครั้งแรกที่ได้ลองซื้อสินค้าที่มันบอกว่า “ส่งจากต่างประเทศ” ที่กล้าสั่งเพราะว่าเราไม่ได้รีบร้อนอะไร ที่สำคัญ ราคาถูก สั่งมาลองถ้ามันใช้ได้ดีเราค่อยซื้อเพิ่ม
ในขั้นตอนการเพาะเมล็ดแบบใหม่นั้นเราก็ลองหลายวิธีด้วยกัน จนสุดท้ายเราพบว่าการเพาะเมล็ดทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง เมื่อมีรากสีขาวโผล่ออกมาก็เพียงพอสำหรับการรับแสง เมล็ดไหนที่รากยืดยาวก็ใช้ที่คีบจัดยัดกลับเข้าไป เสร็จแล้วก็เปิดไฟให้
แต่เราก็เจอปัญหาถัดมา นั่นก็คือแมลงมารบกวนตอนกลางคืน แมลงและแมงต่างๆ เป็นพาหะนำเชื้อราและโรคแก่พืช ต้องป้องกันเพื่อที่จะให้ต้นกล้าแข็งแรง สมบูรณ์พอที่จะออกไปผจญโลกได้
สิ่งที่ต้องมีเมื่อให้ไฟแก่การอนุบาลหรือเพาะเมล็ดก็คือ ต้องมีตาข่ายกันแมลงรบกวน เราแนะนำให้ใช้ตาขาย 30 ตาขึ้นไปจะสามารถกันแมลงได้ดี ซึ่งวิธีการป้องกันนั้นก็แล้วแต่สะดวก จะหามาคลุมง่ายๆ ก็ได้ หรือตัดเย็บเป็นถุงแล้วยัดกระบะเพาะเข้าไปพร้อมเปิดไฟข้างในก็ได้
ขั้นตอนสำคัญคือ เมื่อเมล็ดเริ่มมีรากงอกออกมา ไม่ว่าจะเป็น 24 หรือ 48 ชั่วโมง ให้จับยัดเข้าถุงกันแมลง เติมน้ำเปล่าพอประมาณแล้วเปิดไฟให้เลย หมั่นดูระดับน้ำอย่าให้แห้ง ประมาณ 4-5 วัน ต้นกล้าจะเริ่มมีใบเลี้ยงใบที่ 3 โผล่ออกมา ย้ายจากกระเปิดไฟให้ระยะประชิดไปสู่การอนุบาลในน้ำปุ๋ยต่อไป
การอนุบาลผักที่อายุ 5-7 วันขึ้นไป ทางฟาร์มของเราจะเติมน้ำเข้าไปในกระบะให้เต็มแล้วจึงนำฟองน้ำที่มีผักที่งอกแล้วใส่ลงไป สองวันแรกในน้ำลึกเราจะยังไม่ให้ปุ๋ยเพราะต้องการฝึกต้นกล้าให้ขยับรากให้ชินกับระดับน้ำใหม่ที่ได้รับไปก่อน หลังจากนั้นอีกวันหรือสองวันค่อยเติมปุ๋ยที่ความเข้มข้น 1,200-1,700 เรียนรู้กับน้ำกับผักของเราเองแล้วเราก็จะเริ่มมีประสบการณ์ว่าเราควรเติมปุ๋ยเท่าไหร่และเมื่อไหร่
ก่อนที่จะย้ายฟองน้ำเพาะเมล็ดแผ่นนั้นๆ ให้ทำการ “รีดน้ำ” ออกจากฟองน้ำก่อนเพื่อลดอัตราการเกิดตะไคร่น้ำบนฟองน้ำที่เราเพาะต้นกล้า ซึ่งการเกิตะไคร่น้ำก็ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคในพืชที่เรากำลังปลูกด้วย เลี่ยงไม่ให้เกิดตะไคร่น้ำบนฟองน้ำได้ก็จะดี เพราะตอนนี้เราเริ่มย้ายต้นกล้าที่โตพร้อมรับแสงแดดออกมาไว้ด้านนอก เมื่อได้แสง มีความชื้น มี UV มีความร้อนจากด้วงอาทิตย์เพิ่มมาก็เหมาะกับการเจริญเติบโตของตะไคร่น้ำดีนักแล การทำให้ฟองน้ำแห้งจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยให้เราป้องกันการเกิดแหล่งที่มาของการสะสมเชื้อโรคของพืชได้
เมื่อรีดน้ำจนแห้ง ก็ย้ายฟองน้ำไปใส่น้ำเปล่าหรือน้ำปุ๋ยที่เราเตรียมไว้ในกระบะต่อไป
ไม่ว่าจะเพาะเมล็ดในรูปแบบใด ก็ให้ถือเอาความสะดวก ถูกใจของเราเป็นที่ตั้ง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีวิธีไหนที่มันสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมได้เสมอ
ในเรื่องเล่าถัดไปเราจะเขียนเรื่องการย้ายผักจากกระบะอนุบาลขึ้นไปยังรางอนุบาล พร้อมถึงบอกเล่าว่าทำไมเราถึงต้องสร้างโรงเรือนแบบปิดเพื่ออนุบาลผัก